คลิปวิดีโอ

3 นวัตกรรมไทยดีต่อใจต้านภัย COVID-19
21 เมษายน 2563 10:21 น.

ท่ามกลางปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 หรือไวรัสโคโรนา ทีมบุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้แสดงฝีมือด้านการวิจัยและพัฒนานำเสนออุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที

หน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)  และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาหน้ากากกันไรฝุ่นเพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19

นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19 เป็นหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ความเสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันลดขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย            

คุณสมบัติผ้ากันไรฝุ่น

  • ทําจากผ้าทอแน่นพิเศษ (Tightly woven) โดยใช้เส้นด้ายขนาดจิ๋ว (Microfibers) ให้มีจํานวนเส้นด้าย(Thread count) มากกว่า 270 เส้น/ตร.นิ้ว
  • มีขนาดรูผ้า (Pore size) 4-5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าละอองฝอยของเสมหะ (Droplet)   
  • ตัวหน้ากากมีโครงสร้าง 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีรายละเอียดดังนี้
    • ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ
    • ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
    • ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม ผ้า 3 ชั้นทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักล้างได้ มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ   

ชุดตรวจ COVID-19 ประสิทธิภาพสูง

สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงพยาบาลศิริราช กลุ่ม ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ และภาคีเครือข่าย ร่วมวิจัยชุดตรวจ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงโดยนักวิจัยคนไทยครั้งแรกในโลก เร่งทดสอบความแม่นยำ พัฒนารูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน ช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยโรค ด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สนับสนุนให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 

การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 นี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจาก สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ในการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก กลุ่ม ปตท. และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

โดยชุดตรวจนี้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที รวดเร็วกว่าวิธีการตรวจปัจจุบันที่ใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  ค่าตรวจของชุดตรวจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาที่ต่ำลงจากค่าตรวจปัจจุบันซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 13,000 บาท 

VISTEC มีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ที่สามารถผลิตได้ 4,000 ชุด/วัน หรือประมาณกว่า 100,000 ชุด/เดือน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ได้สั่งสารเคมีจากต่างประเทศเข้ามาใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการนำเข้ามาเพื่อพร้อมผลิตรองรับการตรวจติดเชื้อในวงกว้าง จากเครื่องมือที่มีอยู่และสารเคมีที่มีขณะนี้สามารถผลิตได้ทันที 10,000 ชุด และหากความต้องการมีปริมาณสูงมาก หลังผ่านการทดสอบจากศิริราชแล้วเข้าสู่ Production Phase ทาง ปตท.จะหารือกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อผลิตต่อไป เพราะองค์การเภสัชฯ และเครือข่ายเอกชนมีความพร้อมในการผลิตในปริมาณสูง 

รถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแรงดันลบ

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คิดค้นนวัตกรรมความปลอดภัย เป็นทางเลือก-ลดความเสี่ยงในการรับมือ COVID-19  เช่น ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ เตียงเคลื่อนย้ายแบบแรงดันลบ ห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ หน้ากากพลาสติกป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า เป็นต้น

ทีมงานของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ช่วยกันศึกษาพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์แบบง่าย ๆ หลายสิ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน และยังช่วยบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (Medical Negative Pressure Room)

เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบวชิรพยาบาล (Vajira Negative Pressure Transfer) มีต้นทุนการผลิตราว 50,000 – 60,000 บาท  เมื่อเทียบกับเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้นแบบที่มีราคาสูงถึง 700,000 บาท นับว่าสามารถเข้าถึงได้มากกว่าอย่างชัดเจน โดยภาคเอกชนที่สนใจสามารถติดต่อกับวชิรพยาบาลเพื่อผลิตเตียงความดันลบนี้ได้  

นอกจากนี้ยังมีห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (Medical Negative Pressure Chamber) หน้ากากพลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า (Vajira face shield) หน้ากากอนามัยแบบผ้าชนิดพิเศษที่มีช่องตรงกลาง และวิธีการถนอมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยวิธีการง่าย ๆ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ที่มา: https://www.mmthailand.com/3-นวัตกรรมไทย-covid-19/

ข่าวสารทั้งหมด