เกร็ดความรู้

11 ทักษะ Soft Skills ที่ต้องมีสำหรับวิศวกรยุคดิจิทัล
19 มิถุนายน 2563 16:19 น.

รู้จักกับ Soft Skills

ทักษะที่เราได้รับการฝึกฝนหรือได้รับใบประกาศต่างๆมานั้น ถือเป็น Hard Skills ที่สามารถชี้วัดและประเมินผลในเชิงปริมาณได้โดยง่ายในขณะที่ Soft Skills นั้นหมายรวมถึง สามัญสำนึก ทักษะที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์หรือรับมือกับผู้คน และทัศนคติเชิงบวกที่มีความยืดหยุ่นได้ ซึ่งในหลายกรณีอาจวัดผลตรวจสอบหรือจับต้องได้ยากกว่า Hard Skills ในทางกลับกัน Soft Skills เป็นทักษะที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลาร่วมกับ Hard Skills

การเติบโตของ AI และ ออโตเมชั่นเพิ่มมูลค่าให้กับ Soft Skills

การเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligent (AI) และเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือออโตเมชัน (Automation) ทำให้เกิดความปั่นป่วนกับตลาดทักษะและความสามารถของแรงงาน

แม้ว่าในปัจจุบันความต้องการใช้งานเทคโนโลยีนั้นมีเพิ่มมากขึ้น แต่ทักษะ Soft Skills อย่างการคิดเชิงวิเคราะห์ Active Learning และความคิดสร้างสรรค์กลับมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามาแทนที่งานที่ต้องทำซ้ำๆ ที่มนุษย์เคยทำ แต่จากผลสำรวจจาก APAC กว่า 44% คิดว่าระดับทักษะทางด้านความคิดที่สูงนั้นยังคงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่นี้ และการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่หุ่นยนต์กำลังเข้ามาเป็นกระดูกสันหลังใหม่นี้ต้องการ Soft Skills เพื่อให้สามารถปรับตัวและยังคงไว้ซึ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงานของตัวเองเอาไว้ได้ นอกจากนี้ข้อมูลยังระบุอีกว่ามากกว่า 50% ของทั้งผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มของลูกจ้างเองและผู้มีที่หน้าที่พัฒนาแรงงานมองว่า Soft Skills เป็นส่วนสำคัญในการก้าวหน้าของสายอาชีพ

“ในมุมมองของผม ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ทักษะที่คุณต้องการ คือ Soft Skills คุณต้องรู้เกี่ยวกับปรัชญา จิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เพราะว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมอีก 10 ปีนับจากนี้ คือ การที่กฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมถูกมองในมุมใหม่ๆ ซึ่งนั่นหมายถึงการมี AI อยู่ในชีวิตของเรา” Piyush Gupta, CEO, DBS Bank 

ทักษะการคิดวิเคราะห์ คือ พระเอกของ Soft Skills ชั่วโมงนี้ 

ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving) นั้นกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับงานในอนาคตของลูกจ้าง จากข้อมูลรายงาน Future of Skills 2019 ของ Linkedin พบว่า ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหานั้นเป็นหนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในความคิดของแรงงานจากหลากหลายประเทศ  ดังนั้นจะเห็นว่าทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบและความสามารถในการแก้ปัญหานั้นยังคงมีความสำคัญ แม้เราจะอยู่ในยุคที่มีการคำนวนของคอมพิวเตอร์ที่แม่นยำแล้วก็ตาม แต่ความสามารถในการเข้าใจเงื่อนไข บริบท และปัจจัยต่างๆ ของมนุษย์ยังไม่อาจถูกทดแทนได้ในเร็ววันนี้

นอกจากทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแล้ว ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะการประยุกต์และความยืดหยุ่น (Adaptability & Flexibility) นั้นยังเป็นกลุ่มทักษะที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในระดับใกล้เคียงกับการคิดวิเคราะห์อีกด้วย หากลองสังเกตดูเพื่อนร่วมงานรอบตัวที่จะพบว่าการทำงานกับคนที่มีทักษะเหล่านี้จะทำให้สามารถทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การคิดวิเคราะห์จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างคุ้มค่าตรงเป้า ทักษะการสื่อสารทำให้สามารถส่งต่อคุณค่าเหล่านั้นไปยังผู้อื่นได้เหมาะสมกับผู้รับสาร และทักษะด้านการประยุกต์ทำให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานรวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

Soft Skills ที่สำคัญสำหรับวิศวกรมีอะไรบ้าง?

อย่าหลงคิดว่าการฝึกอบรมทักษะหรือใบประกาศต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน ทักษะด้าน Soft Skills นั้นกำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นอย่างมากในฐานะทักษะสำคัญของการทำงานของวิศวกร ในขณะที่ Soft Skills นั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะด้านเทคนิค แต่ทักษะเหล่านี้กลับไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรหลักอย่างเป็นทางการ ทำให้แม้ว่าคุณจะมีทักษะด้านวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยมแต่คุณอาจไปไม่ถึงจุดที่ควรคู่กับความสามารถคุณก็เป็นได้ ดังนั้นคุณลองสำรวจตัวเองดูไหมว่าคุณมีทักษะที่สำคัญเหล่านี้อยู่ในระดับไหนกันบ้าง?

  1. ทักษะการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม : ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำงานในโรงงานได้ และไม่ใช่คนที่ทำโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งได้จะไปทำโรงงานอุตสาหกรรมรูปแบบอื่นได้เช่นกัน ความพร้อมและความสามารถในการทำงานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือเย็น รวมไปถึงการทำงานในพื้นที่ที่สกปรก ทั้งยังมีความพร้อมในช่วงเวลาการทำงานที่อาจยาวนานหรือมีช่วงเวลาที่แตกต่างจากการทำงานอื่นๆ รวมถึงมีทักษะและความตั้งใจในการทำงานที่ซ้ำๆ ในขณะที่ยังคงรักษามาตรฐานของการทำงานเอาไว้ได้อย่างดี

  2. ทักษะด้านการแก้ไขปัญหา : ทักษะสุดฮิตอย่างการแก้ไขปัญหานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในโรงงานอุตสาหกรรม ความสามารถในการเข้าใจถึงโครงสร้างปัญหาและวิเคราะห์ต้นเหตุได้อย่างชัดเจน พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและสามารถจัดการปัญหาตามหลักเหตุผลอย่างถูกต้องตามตรรกะเพื่อให้เกิดวิธีการแก้ปีญหาที่มีประสิทธิภาพ

  3. ทักษะในการเผชิญหน้ากับความเครียด : ความสามารถในการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ล่วงหน้าไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์ มาตรฐาน คน ขั้นตอนกระบวนการ โดยยังคงความสามารถในการพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง ต้องสามารถยอมรับคำวิจารณ์ที่มีหลักการณ์และเหตุผลได้โดยไม่เก็บมาเป็นปัญหาส่วนตัว และมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และค้นหาโอกาสจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

  4. ทักษะการบริหารจัดการเวลา : มีความสามารถในการบริหารจัดการหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงตามเวลาที่กำหนด มีความเข้าใจความสำคัญของแผนระยะเวลาและมองเห็นถึงผลประโยชน์ขององค์กรที่จะเกิดขึ้นได้จากความสำคัญของแผนระยะเวลานั้นไม่ว่าจะเป็นแผนระยะเวลาในภาพรวม หรือแผนระยะเวลาการทำงานของตัวเอง

  5. ความรับผิดชอบในหน้าที่ : มีความตั้งใจที่จะก้าวออกมาข้างหน้าให้เติบโตในหน้าที่การงาน สามารถตั้งคำถามในเชิงรุกสำหรับหน้าที่ของตนได้ มีความสามารถในการบริหารจัดการหน้าที่ตัวเองให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นใจและกล้าแสดงออกในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าเพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดในสิ่งที่รับผิดชอบ

  6. ทักษะด้านความปลอดภัย : มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในด้านความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น มีแนวคิดด้านความปลอดภัยแบบเชิงรุกที่สามารถระบุปัญหาและมีความตั้งใจที่จะค้นหาปัญหาให้เจอ

  7. ทักษะการสื่อสาร : คนเก่งหลายคนกลับพลาดเรื่องการสื่อสารไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และความเป็นมืออาชีพในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดถึงเรื่องเทคนิคหรือสิ่งเฉพาะทางที่มันซับซ้อนอยู่แล้วให้เข้าใจหรือเข้าถึงได้ยากยิ่งขึ้น แต่ด้วยการมีทักษะการสื่อสารที่ดี เรื่องยากจะกลายเป็นเรื่องง่าย อาจเริ่มต้นด้วยการเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ เพื่อทำให้สามารถรับข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องเสียก่อน

  8. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ : การผลักดันนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดมูลค่านั้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จและการสร้างความแตกต่างเลยก็ว่าได้ แต่รู้ตัวกันหรือไม่ว่าจริงๆ แล้ววิศวกรนั้นดึงเอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้แทบทุกวันในการการคิดและแก้ปัญหา แต่ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก อาจกลายเป็นหินปูนที่อุดตันความคิดที่ทำให้เกิด ‘รูปแบบ’ ที่ตายตัวและฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของคุณอย่างช้าๆ ดังนั้นอย่าลืมว่าภารกิจหลักของวิศวกรทุกคน คือ ‘หน้าที่ในการยกระดับการทำงานของสิ่งต่างๆ ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาไปวันๆ หรือการทำงานที่เป็นการลดคุณค่าของความสามารถตัวเอง’ 

    ซึ่งการคำนึงถึงบทบาทหน้าที่หลักและผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมจะทำให้สามารถคิดทลายกรอบเดิมๆ ที่เกิดจากการถูกบังคับให้ทำสิ่งซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชินได้เช่นกัน
  9. ทักษะด้านการประยุกต์ : ไม่ว่าคุณจะต้องทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบใด วิศวกรต้องมีความคล่องตัวและพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ความท้าทาย หรือการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หรือจัดการให้เกิดโซลูชันที่ดีที่สุดในยามที่เกิดเหตุไม่คาดคิด ทักษะในการปรับตัวหรือการประยุกต์จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญอย่างมากสำหรับวิศวกร ที่ทำให้นายจ้างมั่นใจได้ว่าวิศวกรคนนั้นๆ สามารถคิดและยืนได้ด้วยตัวเอง มีความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างมั่นใจ และรวดเร็ว ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญให้หน้าที่การงานนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมั่นคง

  10. ทักษะด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น : การทำงานร่วมกับผู้อื่นดูเหมือนไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับวิศวกรไทยที่มีลักษณะเป็นมิตรสักเท่าไหร่ แต่รู้ไว้เถอะว่าความสามารถในการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพต่างหากที่สามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างมากในการทำงาน วิศวกรที่ประสบความสำเร็จนั้นจะทำงานร่วมกับผู้คนที่มีพื้นเพที่แตกต่างกัน มีบุคลิกที่หลากหลาย แม้กระทั่งคนที่ไม่สามารถเข้าใจได้หรือคนที่ทำงานด้วยยาก อย่าลืมว่าทุกคนไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง และไม่ได้มีความพร้อมตลอดเวลา ความสามารถในการทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายจะทำให้เติมเต็มช่องโหว่ที่เกิดขึ้น และยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนใดก็ตาม

  11. ทักษะด้านความเป็นผู้นำ : ทักษะด้านความเป็นผู้นำนั้นเราอาจจะได้ยินกันจนชินหู แต่จะมีสักกี่คนกันที่เข้าใจใน ‘ความเป็นผู้นำ’ ได้ทั้งหมด ความสามารถในการเป็นผู้นำนั้น เป็นความสามารถในการรวบรวมทักษะที่แตกต่างกันเพื่อทำให้ทีมดำเนินการตามแผนการที่วางเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องบริหารจัดการทัศนคติ อารมณ์ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของการทำงานได้อย่างสมดุล

“มันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะปรับเปลี่ยนการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เป็นทั้งการท่องจำและเป็นเผด็จการไปสู่การเรียนรู้ที่มีพื้นฐานจากการทำโครงงานและการทดสอบ
ทักษะ Hard Skills ต้องมีเป็นพื้นฐาน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ‘นักเรียนได้เรียนรู้วิธีแห่งการเรียนรู้’ และจดจ่อกับ Soft Skills ที่มีความสำคัญ เช่น ความยืดหยุ่นและทักษะในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง”Alain Dehaze, CEO กลุ่มบริษัท Adecco

หากดูผิวเผินจะพบว่าทักษะเหล่านี้สามารถพบเจอได้เป็นปรกติทั้งในการทำงานและชีวิตประจำวัน สำหรับในภาคการทำงานนั้น ทักษะ Soft Skill เป็นทักษะที่ถูกบ่มเพาะจากประสบการณ์และการแก้ไขปัญหาที่ได้สั่งสมมา ทำให้เกิดลักษณะหรือวิธีการเฉพาะในแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้น เช่น วิธีในการรับมือกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือกุศโลบายวิธีในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอาจเป็นทั้งวิธีการบังคับ หรือการโน้มน้าวให้เกิดความเต็มใจ ซึ่งรูปแบบการใช้ทักษะเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขใดที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทที่เกิดขึ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตามทักษะด้าน Soft Skills จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Hard Skills นั้นมีความโดดเด่นและแข็งแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคที่ตัวตนของมนุษย์เริ่มเลือนลาง

ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วในยุคระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ ทักษะด้าน Soft Skills นั้นไม่ถือเป็นทักษะที่ตายตัว แต่เป็นทักษะที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของบุคคล และเป็นสิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลาย ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เฉพาะจึงไม่อาจทดแทนคุณลักษณะเหล่านี้ได้

ข่าวสารทั้งหมด